ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แนวคิดการให้กระบวนการทางประชาสังคมสร้างเสริมความปลอดภัย

ในการสร้างเสริมความปลอดภัยให้ชุมชนเข้มแข็งและปลอดภัยนั้น ควรใช้แนวคิดหรือเทคนิค เกี่ยวกับกระบวนการทางประชาสังคม ดังนี้
๑.  แนวคิดเรื่องผู้นำชุมชน
ผู้นำชุมชนมีความสำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างหรือพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้า และการสร้างเสริมความปลอดภัยในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ ภัยอันตราย และความรุนแรงต่างๆ เหล่านี้            ผู้นำชุมชนย่อมเป็นกำลังที่สำคัญมาก ประเภทของผู้นำเหล่านี้ เช่น ผู้นำทางการปกครอง ผู้นำทางการเมือง          ผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางสถานศึกษา เป็นต้น ส่วนบุคคลที่เป็นผู้นำตามประเภทดังกล่าว เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาเขต ตำรวจ พระสงฆ์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักวิชาการสุขศึกษา วิศวกร เป็นต้น
ผู้นำชุมชนที่ดีย่อมมีความรับผิดชอบต่อชุมชนหรือสังคมที่อาศัยอยู่ มีความเอาใจใส่และสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความปลอดภัยของชุมชน การดำเนินงานป้องกัน อุบัติเหตุ         ภัยอันตรายหรือความรุนแรงต่างๆ โดยการนำของบุคคลเหล่านนี้ย่อมจะได้รับความร่วมมือ และยอมรับจากประชาชนในชุมชนเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะผู้นำชุมชนมักจะเป็นตัวอย่างที่ดีและมีแผน ปฏิบัติงานที่เหมาะสมสอดคล้องกับความสนใจ ความต้องการ และปัญหาของชุมชนด้วย
๒.  แนวคิดเรื่องความสำคัญของกลุ่ม
โดยทั่วไปคนเราทุกคนต้องการได้รับความเคารพยกย่องจากผู้อื่น ความรู้สึกที่เป็น เจ้าของ ต้องการมีสถานภาพและความมั่นคง โดยการยอมรับของสมาชิกในกลุ่มจึงพยายามทำตามหรือปฏิบัติตามที่กลุ่มหรือสังคมถือปฏิบัติ เพื่อจะได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น                 ในเรื่องการสร้างเสริมความปลอดภัยให้ชุมชนเข้มแข็ง จึงควรเน้นการยอมรับของกลุ่มและแรงผลักดันของกลุ่ม ในการติชมหรือการยกย่อง เมื่อมีการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
๓. แนวคิดเรื่องค่านิยมของสังคม
ความร่วมมือและความเป็นอิสระ เป็นความต้องการพื้นฐานของคนเรา หากบุคคลให้               ความร่วมมือรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ให้ความเคารพนับถือผู้อื่น รู้จักควบคุมตนเอง และมีบุคลิกลักษณะของ                ความเป็นพลเมืองดี ย่อมจะนำมาซึ่งการปฏิบัติที่ปลอดภัย
ในการสร้างเสริมความปลอดภัยให้ชุมชนจึงจำเป็นต้องให้บุคคลหรือกลุ่มคนในชุมชนรู้จักเรียนรู้ค่านิยมของสังคม การยอมรับของสังคม และการจัดกิจกรรมหรือโครงการที่อาศัยความร่วมมือ เช่น เรียนรู้ค่านิยมการสวมหมวกนิรภัยในการขับขี่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ ค่านิยมในการแต่งกายที่เหมาะสมไม่ล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม เป็นต้น
๔.  แนวคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตย
การให้ความรู้จักและแนะนำให้ประชาชนในชุมชนรู้จักระบอบประชาธิปไตย สร้างความเข้าใจและการเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตย จะช่วยให้บุคคลในชุมชนตระหนักถึงปัญหาเรื่องภัยอันตราย อุบัติเหตุ หรือความไม่ปลอดภัยต่างๆ โดยจะต้องไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเฉพาะของตนเองเท่านั้น แต่จะมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้อื่นหรือสมาชิกอื่นในสังคมด้วยเสมอ ดังนั้น หากประชาชนยอมรับในกฎเกณฑ์ของสังคมในเรื่องนี้ เขาก็จะรู้สึกอิสระและพอใจในการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนรวม
๕.  แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบ
ความรับผิดชอบเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการทำให้บุคคลมีพฤติกรรมที่ถูกต้องสำหรับการที่ได้ฝึกปฏิบัติในสิ่งที่ท้าทายความรับผิดชอบนั้นก็มีส่วนช่วยให้เกิดสวัสดินิสัยด้วย บุคคลหรือประชาชนในชุมชน จึงควรได้รับโอกาสในการแสดงความสามารถและความไว้วางใจในการปฏิบัติงานหรือทำงาน ในสิ่งที่เขาต้องกระทำ หากชุมชนโดยเฉพาะผู้นำชุมชนมีการจัดโครงการหรือกิจกรรมป้องกัน อุบัติเหตุ หรือภัยอันตรายต่างๆ ก็ควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบและดำเนินงานด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น