ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชน

ชุมชนปลอดภัย (Self Communities)
        เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการดำเนินงานสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก  โดยชุมชนที่จะเข้าร่วมในเครื่อข่ายชุมชนปลอดภัยนั้นอาจเป็นชุมชนระดับหมู่บ้าน จังหวัด หรืออื่นๆแต่ที่สำคัญ ชุมชนต้องแสดงความตั้งใจอย่างแท้จริงในการดำเนินงาน  โดยใช้หลัก  13 แนวทางชุมชนปลอดภัย  ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มต่างๆในชุมชนร่วมมือกัน..เพื่อผลระยะยาว
การดำเนินงานป้องกันการบาดเจ็บต้องมีจุดเริ่มมาจากความสนใจและความต้องการของคนในชุมชนนั้นๆอย่างแท้จริงโดยที่คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งร่วมคิด  วางแผน  ทำงานและการติดตามผลการดำเนินงาน  ซึ่งเป็นในลักษณะการจัดตั้งกลุ่มพหุภาพ(Cross Sectorial Group) ในระดับชุมชน หมายถึง  การรวมตัวกันของกลุ่มประชาชนหรือกลุ่มองค์กรต่างๆที่มีอยู่แล้วในชุมชน เช่น ผู้นำชุมชน  ผู้นำท้องถิ่น อสม. กลุ่มแม่บ้านฯลฯ  การดำเนินงานในระยะแรกเน้นการรวมตัวกันของกลุ่มพหุภาพ
2.  เชื่อมโยงหน่วยงานภายนอกร่วมแก้ปัญหา
การประสานงาน  คือ  กลยุทธ์สำคัญของความสำเร็จ  เริ่มจากชุมชนสร้างเครือข่ายในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างบุคคล  กลุ่มในชุมชนของตน เช่น คณะกรรมการชุมชน  กลุ่มครอบครัว ฯลฯ  ไปจนถึงการประสานงานกับองค์กรภายนอกที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค  งานสาธารณสุข  มูลนิธิ  สมาคมต่างๆ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน
3.  ชุมชนสนใจแก้ปัญหาการบาดเจ็บทุกรูปแบบ
กระบวนการจัดการกับปัญหาการบาดเจ็บและสร้างเสริมความปลอดภัยนั้นชุมชนต้องให้ความสนใจในการแก้ปัญหาการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ  เช่น การตกจากที่สูง  จมน้ำ  ไฟฟ้าดูด ฯลฯและการบาดเจ็บโดยตั้งใจ เช่น เด็กถูกทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ซึ่งต้องพิจารณาตามลำดับความสำคัญโดยวิเคราะห์จากสถิติและอุบัติการณ์ในชุมชน
4.  อย่าละเลยความเสี่ยง
ชุมชนให้ความสนในเป็นพิเศษกับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กในครอบครัวยากจน  เด็กพิการ  เด็กเร่ร่อน ฯลฯ เด็กเหล่านี้มีภาวะความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูงกว่าเด็กทั่วไป  เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ  ศักยภาพของผู้ดูแลเด็ก รวมถึงข้อจำกัดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5.  ชุมชนมีระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บที่ชัดเจน
มีการสร้างระบบการเฝ้าระวังการบาดเจ็บในชุมชน  โดยมีการบันทึกการบาดเจ็บ ประโยชน์ที่ได้จากการบันทึกมีดังนี้
      -  ชุมชนใช้การบันทึกในการประเมินขนาดของปัญหาในแบบต่างๆ
      -  ค้นหาสาเหตุของปัญหานั้นๆ  คือ ปัจจัยเสี่ยงของการบาดเจ็บแบบต่างๆ
      -  ใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานต่างๆของชุมชนในการป้องกันการบาดเจ็บ
      -  นำเรื่องราวของการบาดเจ็บแต่ละรายมาเผยแพร่แก่ประชาชนในชุมชน เพื่อเป็นบทเรียนที่มีคุณค่า นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในการป้องกันการบาดเจ็บ
6.  มีระบบการเดินสำรวจความปลอดภัย
มีระบบการสำรวจความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยง
      -  ลักษณะพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ผู้ปกครองขาดความระมัดระวังในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน  การเลือกซื้อของเล่นให้เด็ก  การขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมาฯลฯ
      -  ความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อม เช่น  มีสุนัขจรจัดหรือไม่  สนามเด็กเล่น  วัสดุ  อุปกรณ์  มีความปลอดภัยเพียงไร
7.  ต่อต้านพฤติกรรมเสี่ยงและผลิตภัณฑ์อันตราย
ชุมชนร่วมกันต่อต้านพฤติกรรมเสี่ยงและสิ่งแวดล้อมอันตราย ดังนี้
      -  ต่อต้านพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก  อันจะนำไปสู่การบาดเจ็บในเด็ก
      -  ต่อต้านผลิตภัณฑ์เสี่ยงและสิ่งแวดล้อมอันตรายที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ
ซึ่งชุมชนต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของอันตรายจากความเสี่ยงต่างๆและผนวกเข้ากับวิธีการป้องกันและแก้ไข
8.  ส่งเสริมการใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย
ชุมชนมีการสนับสนุนการใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยต่างๆ เช่น หมวกกันน๊อค  ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กในรถยนต์  จักรยานยนต์  เครื่องตรวจจับควันไฟ ฯลฯ
9.  ชุมชนจัดการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้
ชุมชนมีกระบวนการฝึกอบรมที่เหมาะสมเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องของการป้องกันควบคุมการบาดเจ็บในเด็ก  วิธีการปฐมพยาบาลและการปฏิบัติการณ์กู้ชีพเบื้องต้น
10.  เตรียมพร้อมรับภาวะฉุกเฉิน
มีการเตรียมความพร้อมรับภาวะฉุกเฉินต่าง ๆที่เกิดขึ้นในชุมชน  ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัย  วาตภัย  อุบัติเหตุ  ซึ่งชุมชนต้องมีระบบการจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหัน เช่น  การรักษาพยาบาลฉุกเฉินในชุมชนและการส่งต่อ เป็นต้น
11.  ใช้ทรัพยากรของชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สามารถดำเนินการระยะยาวโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ปกติในชุมชน เช่น บุคลากร  งบประมาณฯลฯ ใช้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่องานสร้างเสริมความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพราะในแต่ละชุมชนนั้นมีกระบวนการ ค่านิยม  ทัศนคติที่แตกต่างกัน
12.  มีตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน
มีการประเมินภายในชุมชนโดยกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมสำหรับชุมชนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือวัดผลการดำเนินงาน  ซึ่งอาจใช้เกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยขั้นต่ำที่เป็นเกณฑ์ชี้วัดความสามารถของการดูแลเด็กและครอบครัวหรือประเมินผลข้อมูลจากการสำรวจการบาดเจ็บและการเฝ้าระวังการบาดเจ็บมาเป็นตัวชี้วัดของชุมชนเอง  รูปแบบตัวชี้วัดในชุมชน ได้แก่
      -  ด้านสิ่งแวดล้อม  เช่น มลพิษ  สารเคมี แหล่งเสื่อมโทรม ฯลฯ
      -  ด้านผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น  การบาดเจ็บจากเครื่องเล่นที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานฯลฯ
      -  ด้านการป้องกันแก้ไข เช่น วิธีการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม  ให้ความรู้แก่คนในชุมชน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ฯลฯ
13.  องค์ความรู้ชุมชน..สำคัญที่การปฏิบัติและขยายผล
มีการรวบรวมความรู้ประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินงานภายในชุมชนเผยแพร่สู่ชุมชนอื่นเพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานสร้างเสริมความปลอดภัยซึ่งอาจใช้เทคนิคการประชาสัมพันธ์เข้าช่วย เช่น การจัดประชุมชุมชนต่างๆ  การพูดในที่สาธารณะ  การจัดนิทรรศการหรือชุมชนประสานกับทางสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการเข้าใจที่ตรงกันในวัตถุประสงค์ เกิดกระบวนการผลักดันเข้าสู่นโยบายระดับชาติต่อไป

@@@@@@@@@@@@

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น